ภาวะผู้นำ สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม: Leadership for Innovation (ตอน 1)
ภาวะผู้นำ สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม
Leadership for Innovation: The Mediating Role of Motivation
วสันต์ สุทธาวาศ : เรียบเรียง
บทคัดย่อ
ณ สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน องค์การต่างๆ ล้วนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และความเจริญก้าวหน้าในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประสิทธิผลขององค์การขึ้นอยู่กับความสามารถขององค์การในการเรียนรู้สถานการณ์ แนวคิด เทคนิคการดำเนินงาน และเทคโนโลยีต่างๆ จากภายนอก เรียนรู้ประสบการณ์ของกันและกันภายในและภายนอกองค์การ นำมาพัฒนาการคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดนวัตกรรม (Innovation) ต่อไป การพัฒนาองค์การให้มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่สรรค์สร้างให้เกิดนวัตกรรม ก็คือ คน ปัญญาความรู้ และทักษะความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ เป็นหัวใจหลักของการสร้างประสิทธิภาพ (Efficiency) ของการทำงาน และขับเคลื่อนองค์การให้เติบโตอย่างมั่นคง
ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้ต้องคิดวิเคราะห์ และวางแผนโดยคาดคะเนถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้เท่าทัน และตรงเงื่อนไขใหม่ๆ ที่จะเกิดในอนาคตโดยผู้บริหารระดับสูงต้องมีความมุ่งมั่นในการนำองค์การไปสู่องค์การสร้างนวัตกรรม สนับสนุนแรงจูงใจที่เป็นพลังภายในที่กระตุ้นทำให้เกิดพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งสู่ผลผลิตที่ดีขององค์การ (Hoy and Miskel, 2008) สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์การได้คิดสร้างสรรค์และนำเสนอแนวความคิด (Idea) ได้อย่างอิสระ กล้าที่จะเสี่ยงนำเอาแนวความคิดดีๆ ไปพัฒนา รวมทั้งการใช้รางวัลเป็นตัวกระตุ้นบุคลากรขององค์การ
ในอดีตที่ผ่านมา มีการศึกษาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับ ภาวะผู้นำ ที่มีประสิทธิภาพมีจำนวนมาก แต่มีแนวคิดทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและกล่าวถึงกันมาก คือ ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) และภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transaction Leadership) ซึ่งมีงานวิจัยนับพันๆ เรื่องที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ในทั่วโลกและยืนยันว่า ทฤษฎีสามารถนำไปประยุกต์ได้ใช้ได้ และสามารถพัฒนาภาวะผู้นำนี้ได้ในทุกองค์การ (Puccio, G., Murdock, M., & Mance, M. 2011) แต่เป็นที่น่าสนใจว่างานวิจัยที่ผ่านมามุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับตัวแปรหรือปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อความมีประสิทธิภาพ หรือประสิทธิผลต่อองค์การ ตัวแปรหรือปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อผลการปฏิบัติงานของพนักงาน รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของพนักงานเท่านั้น (Stuart, Mills and Emus, 2009)
แต่ยังไม่พบงานวิจัยใดที่นำภาวะผู้นำทั้งสองแบบมาเชื่อมโยงกับนวัตกรรม (Innovation) ภายใต้บทบาทความเป็นตัวแปรกลางของการจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) และการจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) ซึ่งเป็นการประยุกต์เข้าด้วยกันระหว่างธรรมชาติของจิตใจและความแปลกใหม่ที่สร้างสรรค์ได้ ในการศึกษาประเด็นเหล่านี้ เราได้พัฒนาและตั้งสมมติฐานโดยหาข้อมูลจากผู้นำที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข ผลปรากฏว่า ภาวะผู้นำทั้งสองแบบส่งผลทั้งในทิศทางเดียวกันและในทางผกผัน ต่อการเชื่อมโยงไปยังนวัตกรรม (Innovation) และบทบาทของการจูงใจทั้งสองแบบที่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรทั้งสอง โดยที่สนับสนุนแนวคิดของ แบสส์ (Bass) ที่กล่าวถึงการผสมผสานภาวะผู้นำทั้งสองลักษณะเพื่อสร้างและผนวกการจูงใจทั้งสองประเภท ให้สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมได้
คำสำคัญ: ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership), ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transaction Leadership), การจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation), การจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation), นวัตกรรม (Innovation)
1. บทนำ
ภายใต้กระแสโลกปัจจุบันที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานและองค์การเป็นวงกว้างและยาวนาน ความเปลี่ยนแปลงจึงถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ทุกๆ องค์การต้องเผชิญ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับสังคม ระดับองค์การ ระดับกลุ่ม และระดับบุคคล ทั้งในด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ค่านิยม ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยี ผลจากแบบเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลทั้งทางบวกและทางลบ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้องค์การต้องตกอยู่ในสภาวะที่มีการแข่งขันสูง ภาวะผู้นำจึงถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้องค์การประสบความสำเร็จ องค์การหากมีผู้นำหรือผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ก็สามารถที่จะแข่งขันกับผู้อื่น และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
ซึ่งในอดีตนั้น ลักษณะผู้นำที่ดีและเข้มแข็งจะมองเพียงในด้านกายภาพ บุคลิกภาพ ความรู้ความสามารถ ความมั่งคั่งและบารมีเท่านั้น แต่สำหรับในปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ผู้นำที่ดีและเข้มแข็งยังต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีการติดต่อสื่อสารในองค์การที่ดี ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการจูงใจต่างๆ และนำองค์การไปสู่ความสำเร็จ ภาวะผู้นำมีผลกระทบต่อความตั้งใจ ความภักดี และความไว้วางใจ เช่นเดียวกันกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือสำคัญขององค์การที่จะทำให้มีความสามารถในการพลิกผันโอกาสไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ (Peter Drucker, 1985)
เมื่อเกิดการตระหนักว่า ภาวะผู้นำ เป็นเรื่องสำคัญต่อการบริหารองค์การและการแข่งขันทางธุรกิจ นักวิชาการในหลายยุคหลายสมัยจึงทุ่มเทศึกษาเรื่องภาวะผู้นำ จนก่อเกิดเป็นแนวคิดและทฤษฎีที่คิดและมองในมุมที่แตกต่างกันมากมาย ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมาการศึกษาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะผู้ที่มีประสิทธิภาพมีจำนวนมากเกี่ยวกับ ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) และภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transaction Leadership) มีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ในทั่วโลกและมีผลการวิจัยไปในทิศทางเดียวกันว่า ทฤษฎีนี้สามารถนำไปประยุกต์ได้ใช้ได้ และสามารถพัฒนาภาวะผู้นำนี้ได้ในทุกองค์การและในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การที่อยู่ในอเมริกา ยุโรป หรือในเอเชีย
สำหรับในเอเชีย มีการศึกษาวิจัยในองค์การธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และในประเทศไทยพบว่า ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนแปลงนี้มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลขององค์การ ผลการ ปฏิบัติงาน ทั้งของกลุ่มและของผู้ใต้บังคับบัญชา เจตคติต่อการทำงาน ความพึงพอใจในการทำงาน ความผูกพันต่อองค์การ พฤติกรรมความเป็นพลเมืองดี (Organizational Citizenship Behavior : OCB) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในองค์การ และตัวแปรหรือปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย (Schmidt, G. M., and Porteus, E. L., 2000)
ในแง่มุมด้านผลผลิตขององค์การนั้น แบสส์ (Bass, 1985) พบว่า พฤติกรรมของผู้นำในการนำกลุ่มให้ปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้ผลดียิ่งขึ้นหรือให้ได้ผลเกินความคาดหวัง ผู้นำจะต้องแสดงความเป็นผู้นำทั้ง 2 ลักษณะร่วมกัน ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) และภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transaction Leadership) โดยทิศทางการแสดงพฤติกรรมความเป็นผู้นำจะออกมาในสัดส่วนมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ
1. สิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ ได้แก่ เศรษฐกิจ แบบเปลี่ยนแปลงในสังคม วัฒนธรรม และประเพณีของแต่ละท้องถิ่น
2. สิ่งแวดล้อมภายในองค์การ ได้แก่ งาน เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และวัฒนธรรมองค์การ
3. คุณลักษณะส่วนตัวของผู้นำเอง ได้แก่ บุคลิกภาพ ความสามารถเฉพาะบุคคล และความสนใจของแต่ละบุคคล
ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงถูกออกแบบมาในมิติของการศึกษาแรงขับสู่ผลผลิตขององค์การที่สำคัญ ซึ่งก็คือนวัตกรรม รวมถึงเพื่อต่อยอดงานวิจัยก่อนหน้า กล่าวคือ มุ่งเน้นการออกแบบโมเดลและทดสอบสมมติฐานความสัมพันธ์ระหว่าง ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transaction Leadership) และนวัตกรรม (Innovation) รวมถึงบทบาทของ การจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) และ การจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) ทั้งในทิศทางเดียวกันและในทางผกผัน จึงทำให้เกิดโมเดลแสดงการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่าง ภาวะผู้นำกับนวัตกรรม และบทบาทความเป็นตัวแปรกลางของการจูงใจขึ้น
1 Response
[…] ย้อนอ่าน ภาวะผู้นำ สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม… […]