ทฤษฎีองค์การ ในศตวรรษที่ 21: The next station of Organization Theory (ตอน 1)
The Next station of Organization Theory
วสันต์ สุทธาวาศ : เรียบเรียง
บนเส้นทางสายการจัดการในอดีตนั้น ถูกรายล้อมด้วยการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่มิได้มีความสลับซับซ้อนมากนัก จึงไม่ต้องอาศัยระบบของการจัดการเฉกเช่นในปัจจุบัน แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การเกิดขึ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ประมาณปี ค.ศ. 1880) ที่ส่งผลต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ ที่ได้กระตุ้นให้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเริ่มเป็นที่ยอมรับและขยายตัวมากขึ้น รวมถึงได้มีการพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ
ภายใต้รูปแบบการดำเนินงานที่เรียกว่า องค์การ ซึ่งก็คือ การรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อที่จะดำเนินการให้บรรลุซึ่งเป้าหมายที่กำหนดไว้ และสามารถพบได้ในสังคมมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง ในฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งมีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทนั้นๆ ดังนั้น ทุกองค์การไม่ว่าจะมีขนาด ประเภท หรือสถานที่ตั้งอย่างไร จำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี เพราะว่าการจัดการที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นที่มั่นคงต่อการดำเนินงาน การเติบโตและการดำรงอยู่ต่อไปขององค์การ
โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ได้ท้าทายองค์การให้ต้องเผชิญสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยี ทำให้องค์การควรต้องมีแนวทางในการจัดการที่ทันสมัย เพียงพอต่อการรับมือกับมรสุมต่างๆ เหล่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2013) และหยั่งได้ถึงทิศทางของอนาคตในบทความนี้จึงจะได้นำเสนอเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
วิวัฒนาการของแนวคิดในการจัดการ
วิวัฒนาการของ ทฤษฎีองค์การ หากเปรียบดังรถไฟแล้ว ได้เดินทางผ่านมาถึง 4 สถานีที่สำคัญ และเป็นหลักให้คนในโลกแห่งการจัดการได้แวะเวียนมาใช้บริการจำนวนมาก สถานีหรือยุคที่สำคัญของทฤษฎีองค์การเป็นผลผลิตจากเบ้าหล่อทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จากอดีตอันไกลโพ้น สู่ปัจจุบันที่ซับซ้อน ซึ่งกรุยทางสู่รูปแบบที่ควรจะเป็นในอนาคต
1st Station – ยุค Classical Organization Theory
แนวคิดในยุคนี้เป็นรากแห่งการเติบโตของแนวคิดทางการจัดการ โดยแบ่งเป็น แนวคิดก่อนยุค การจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (Pre–Scientific Management) เกิดขึ้นก่อนปี ค.ศ. 1880 การบริหารในยุคนี้อาศัยอำนาจหรือการบังคับให้คนงานทำงาน ซึ่งวิธีการบังคับอาจใช้ การลงโทษโดยการใช้แส้ เป็นต้น คนทำงานในยุคนี้จึงเปรียบเสมือนทาสที่ต้องทำงานเพราะกลัวการลงโทษ ในยุคนี้มีผู้ที่นำเสนอแนวคิดอันทรงอิทธิพลต่อรูปแบบการจัดการในเวลาต่อมาที่สำคัญ ได้แก่
Socrates ได้กล่าวถึงหลักการบริหารที่เป็นสากล คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารในองค์การภาครัฐหรือภาคเอกชน ขอเพียงเข้าใจในหลักการและมีทักษะ ก็สามารถบริหารจัดการองค์การได้ดังกล่าวได้ทั้งหมด รวมถึงยังสนับสนุนระบบผู้นำคนเดียว เพราะสินใจได้เด็ดขาด รวดเร็ว แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความมีคุณธรรมประกอบกันด้วย
Adam Smith มีมุมมองในมิติทางเศรษฐศาสตร์ ภายใต้แนวคิดทุนนิยม จึงมองว่าทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นสิ่งที่ต้องการ คือ ต้องทำสิ่งต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ จึงได้นำเสนอหลักการจัดการที่เรียกว่า Division of Labor ที่มุ่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้คนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมีแนวคิดว่า ในการทำงานถ้าคนหนึ่งคนต้องทำงานทุกอย่าง คนๆ นั้นจะไม่มีความชำนาญเฉพาะ อาจสร้างความเสียหายในทุกกระบวนการทำงานได้ ซึ่งแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าคนทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเฉพาะจนเกิดความชำนาญแล้ว จะลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และสุดท้ายก็จะสามารถเพิ่มจำนวนผลผลิตขึ้นมาได้ เป็นการเปรียบคนเสมือนเครื่องจักร ซึ่งกลายเป็นต้นทางในการจัดการองค์การในยุคต่อมา
Daniel C. McCallum ให้ความสำคัญกับการจดบันทึกและทำรายงานประจำวัน มองว่าในการบริหารจัดการ สิ่งสำคัญต้องมีการรายงานผลที่ดี เป็นข้อเท็จจริง เป็นการรายงานที่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และเกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผู้บริหารก็ต้องกล้าที่จะยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ได้เสนอหลักการจัดการ 6 ข้อ คือ Division of Responsibility โดยยึดแนวทางตามหลักการ Division of Labor ของ Adam Smith แต่ได้เน้นถึงความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย
Henry R. Towne มองว่าใครก็ตามที่ก้าวมาเป็นผู้บริหารแล้ว นอกจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ยังต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ด้านบัญชี ด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ถือเป็นการเริ่มเอาสถิติเข้ามาใช้ในการจัดการองค์การ และเป็นต้นทางของการทำวิจัยเชิงปริมาณในเวลาต่อมา
แนวคิดการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) แนวคิดนี้เริ่มในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือประมาณปี ค.ศ 1880 เป็นต้นมาจนถึงปี 1930 ในยุคนี้ได้ใช้หลักวิธีการจัดการแบบวิทยาศาสตร์มาช่วยในการบริหารการจัดการ ทำให้ระบบบริหารการจัดการแบบโบราณได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งในยุคนี้มีบุคคลที่มีความสำคัญต่อแนวคิดทางการจัดการ ดังนี้
Henri J. Fayol ได้สร้างผลงานทางแนวความคิดเกี่ยวกับการบริหาร ซึ่งมุ่งที่ผู้บริหารระดับสูง โดยศึกษาหากฎเกณฑ์ที่เป็นสากล เพื่อมุ่งให้เกิดประสิทธิภาพในองค์การ ซึ่งได้เสนอแนวคิดและกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารของผู้บริหารที่สำคัญ คือ หน้าที่ของนักบริหาร (Management Functions) แบ่งเป็นหลัก 6 ประการ และหลักการบริหาร (Management Principle) ได้วางหลักพื้นฐานทางการบริหารไว้ 14 ประการ ที่ถือเป็นบทบาทที่สำคัญสำหรับผู้บริหารองค์การ
Frederick W. Taylor คัดค้านการบริหารงานแบบเก่าที่ใช้อำนาจ (Power) ว่าเป็นการบริหารที่ใช้ไม่ได้ และมีความเชื่อว่าคนงานส่วนมากมักขาดทักษะและความรู้ ส่งผลให้เกียจคร้าน หลีกเลี่ยงการทำงาน ชอบทำงานน้อยแต่ต้องการค่าตอบแทนสูงสุด จากสมมติฐานดังกล่าว จึงพยายามหาหลักเกณฑ์ในการทำงานเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพและปริมาณสูงสุด โดยใช้ปัจจัยในการผลิตต่ำสุด (Maximum Output with Minimum Input) ดังนั้น จึงได้ศึกษาและวิเคราะห์เวลาการเคลื่อนไหวในขณะทำงาน (Time and Motion) เพื่อดูการทำงานและการเคลื่อนไหวของคนงานในขณะทำงาน
โดยได้คิดค้นและกำหนด วิธีการทำงานที่ดีที่สุด (One Best Way) สำหรับงานแต่ละอย่างที่ได้มอบหมายให้คนงานทำ มองคนเป็นเครื่องจักรและมุ่งประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นถือได้ว่า Taylor เปรียบเสมือน The Father of Scientific Management เนื่องจากได้เสนอการจัดการที่มีระบบ ศึกษาหาเหตุผลเพื่อการทำงานที่ดีที่สุด (เก็บข้อมูล วิเคราะห์) สำหรับการศึกษาที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ (The Scientific Approach) มีส่วนประกอบสำคัญ 3 ลักษณะคือ แนวคิดที่ชัดเจน (Clear Concept) วิธีทางวิทยาศาสตร์ (Scientific) และทฤษฎี (Theory)
นอกจากนี้ ยังมองว่าการจัดการที่ผ่านมา ไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักการ และไม่จูงใจได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน ที่คนทำงานมากหรือน้อยก็ได้ผลตอบแทนเท่ากัน ซึ่งเกิดเป็นข้อคำถามว่าใครจะอยากทำงาน และลุกลามไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น การอู้งาน ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ดังนั้นการจัดการที่มีเหตุและผล ต้องทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ คือ อธิบายได้ วัดได้ สัมผัสได้ กำหนดวิธีการทำงานด้วยหลักเกณฑ์ที่ได้มีการทดลองแล้วว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด (One best way) การคัดเลือกบุคลากรและการบริหารบุคลากร (Selection) ต้องทำอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้บุคลากรที่เหมาะสม และมีการมอบหมายงานตามความถนัด (Put the right man on the Right job) ภายใต้การจ่ายค่าตอบแทนที่จูงใจและเหมาะสมด้วย
Max Weber อยู่ในยุคที่ได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ปัญหาที่เกิดในเชิงการจัดการ คือ คำถามที่ว่าการบริหารจัดการจะก้าวหน้าได้อย่างไร โดยไม่ให้อำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มเดิม (ขุนนาง) อีกทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์และระเบียบในการปฏิบัติงานที่แน่นอน จึงต้องหารูปแบบองค์การที่มีประสิทธิภาพสำหรับฝ่ายบริหาร ให้เป็นรูปแบบองค์การที่เข้มแข็งที่สุด มีประสิทธิภาพสูงที่สุด และต้องให้ปลอดจากการครอบงำทางการเมือง
จึงได้นำเสนอ Theory of Bureaucracy คือ รูปแบบองค์การที่ใช้เหตุผล (Logic) และประสิทธิภาพ (Efficient) โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามระเบียบ (Order) และตามกฎหมาย (Legitimate Authority) ซึ่งมีลักษณะ 5 ประการ คือ การแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) มีสายบังคับบัญชา เป็นลำดับหน้าที่ (Hierarchy of Authority) มีกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติอย่างเป็นทางการ (Formal Rules and procedure) ความไม่เป็นส่วนตัว (Impersonality) และความก้าวหน้าในงานอาชีพตามหลักคุณภาพ (Careers based on Merit)
Luther Gulick ได้นำเสนอหลักการ POSDCORB คือ 7 องค์ประกอบหลักในการจัดการองค์การ ที่ทุกองค์การต้องนำไปใช้ ซึ่งหยิบยกเอาหลักการของนักคิดในยุคก่อนมาร้อยเรียงให้เหมาะสมขึ้น โดยเฉพาะ Fayol ที่ถือว่ามีอิทธิพลมากที่สุดต่อหลักการดังกล่าว นอกจากนี้ ได้ตอบโจทย์ต่อแนวคิดของ Socrates ที่พยายามสร้างหลักการสากลทางการจัดการและสามารถนำไปใช้ได้กับองค์การทุกประเภท หลักการ POSDCORB ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะหลักการดังกล่าวพยายามพัฒนามุมมองในทุกมิติขององค์การ และมุ่งตอบโจทย์การจัดการในภาพรวมทั้งหมด ถือเป็นยุคทองของการจัดการองค์การอย่างแท้จริง
จากแนวคิดดังที่กล่าวมาแล้ว ทฤษฎีองค์การ ของนักคิดในยุคนี้มุ่งเน้นที่ผลผลิต ให้สามารถทำได้สูงสุดภายใต้แนวคิดที่ว่าทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด เน้นหลักประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต โดยผ่านการแบ่งงานกันทำและทำงานตามความถนัดเฉพาะด้าน (Specialization) โดยเชื่อว่าบุคคลกับองค์การปฏิบัติงานตามหลักการทางเศรษฐกิจที่มีความสมเหตุสมผล มีค่านิยมด้านประสิทธิภาพ (Efficiency)
นอกจากนั้นยังได้มีการออกแบบโครงสร้างขององค์การและหลักการบริหารเพื่อที่จะใช้ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ และในการปรับปรุงการทำงานหรือโครงสร้างนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากความคิดในการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายจัดการที่อยู่ในระดับสูงขององค์การ เพื่อที่จะกำหนดโครงสร้างวิธีการ กฎระเบียบ รวมถึงเทคนิคการบริหารต่างๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในระดับล่างให้ปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามการใช้ความเป็นเหตุเป็นผลของยุคสมัยใหม่นี้ ก็ยังเป็นพื้นฐานของการทำงานและการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน
Classical Organization Theory’s Character
พยายามสร้างหลักการจัดการที่เป็นสากล มุ่งประสิทธิภาพสูงสุด มองคนเสมือนเครื่องจักร และใช้ผลตอบแทนในรูปแบบของเงินในการจูงใจคนทำงาน
อ่่านต่อ ทฤษฎีองค์การ ในศตวรรษที่ 21 (ตอน 2)
อ่านต่อ ทฤษฎีองค์การ ในสตวรรษที่ 21 (ตอน 3)
2 Responses
[…] ย้อนอ่าน ทฤษฎีองคืการ ในศตวรรษที่ 21 (ตอน 1) […]
[…] ย้อนอ่าน ทฤษฎีองค์การ ในศตวรรษที่ 21 ตอน 1 […]