ทฤษฎีองค์การ ในศตวรรษที่ 21: The next station of Organization Theory (ตอน 3)
(ตอน 3)
ย้อนอ่าน ทฤษฎีองค์การ ในศตวรรษที่ 21 (ตอน 1)
ย้อนอ่าน ทฤษฎีองค์การ ในศตวรรษที่ 21 (ตอน 2)
วสันต์ สุทธาวาศ : เรียบเรียง
Modern Organization Theory และ Postmodern Organization Theory
จุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญของเส้นทางสายทฤษฎีองค์การเกิดขึ้นในยุค Modern และยุค Postmodern ที่เริ่มมององค์การแบบเป็นรูปธรรมมากขึ้นและเริ่มให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากแนวคิดในสมัย Classic และ Neo-Classic ที่ไม่เคยพูดถึงเรื่องสภาพแวดล้อม
จากการตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงพยายามหาหนทางเพื่อให้องค์การสามารถรับมือหรือจัดการกับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมได้ จึงได้รวมเอาแนวความคิดการจัดการยุคก่อนหน้าไว้ด้วยกัน เพื่อลดข้อจำกัด และปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายในองค์การ จากการพัฒนามาจากแนวคิดที่หลากหลายดังกล่าว จึงเกิดทฤษฎีที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ (Multi Disciplinary) คือรับเอาแนวคิดและเทคนิค จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น สังคมวิทยา จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ การวิจัย และอื่นๆ มาผสมผสานและประยุกต์เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
3rd Station – ยุค Modern Organization Theory
แนวคิดในยุคนี้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ 1950 ซึ่งในขณะนี้เศรษฐกิจ และธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความสลับซับซ้อนในการบริหารการจัดการก็เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นการจัดการในยุคนี้ จึงต้องใช้หลัก ทางคณิตศาสตร์มาช่วยในการตัดสินใจ ตลอดจนการจัดการเชิงระบบมาช่วย แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารการจัดการสมัยใหม่ก็ยังมิได้ทิ้งหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และแนวคิดในด้านมนุษย์สัมพันธ์เสียทีเดียว
ทฤษฎีองค์การ ยุค Modern มองว่าองค์การนั้นอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมนั้นก็มีผลอย่างยิ่งต่อองค์การและการบริหารจัดการ ดังนั้นการศึกษาองค์การจึงควรศึกษาในระบบเปิด (Open Perspective) นำไปสู่แนวคิดทฤษฎีระบบ (System Theory) ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดการที่มององค์การ เป็นระบบตามหน้าที่ที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับทฤษฎีระบบทั่วไป ที่อธิบายความเหมือนของระบบต่างๆ ว่าประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่เรียกว่า ระบบย่อย (Sub Systems) โดยทฤษฎีดังกล่าวจะพิจารณาองค์การในฐานะที่เป็นระบบเปิด (Opened System) เพราะถือว่าองค์การเป็นระบบย่อยของสังคมเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม
ดังนั้น เป้าหมายในการปฏิบัติงานขององค์การส่วนหนึ่ง คือต้องตอบสนองความต้องการของสังคมด้วยการให้บริการ และผลผลิต เป็นการนำแนวคิดทฤษฎีระบบ (System Theory) มาใช้ในการวิเคราะห์องค์การ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ขององค์การไม่ว่าภายในหรือภายนอก ล้วนแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น การบริหารการจัดการจึงต้องปรับตัวให้มีความสมดุลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ ที่กล่าว จึงจะทำให้องค์การเติบโต อยู่รอด และสัมฤทธิผลตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ยุค Modern ยังพัฒนาหลักการจัดการที่สำคัญอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น การจัดการโดยใช้คณิตศาสตร์หรือเชิงปริมาณมาช่วยในการตัดสินใจ (Quantitative or Decision Making Approach) การศึกษาในแนวนี้จะใช้เครื่องมือสมัยใหม่มาช่วยในการตัดสินใจ เช่น การวิเคราะห์เชิงปริมาณ การวิจัย การใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมถึงทฤษฎีองค์การตามสถานการณ์ (Situation or Contingency Approach) ที่มีสมมติฐานว่า องค์การมีความแตกต่างกันในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบขององค์การหรือสภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์ที่เผชิญอยู่
ดังนั้น การบริหารงานองค์การ จึงเป็นเรื่องของการทำให้องค์การสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความพยายามหารูปแบบการบริหารที่มีความยืดหยุ่น (Flexibility) สามารถปรับตัวได้ (Adaptable) และแนวคิดเรื่ององค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่มองว่าองค์การที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์ได้มาซึ่งความรู้ ถ่ายทอดความรู้และปรับพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อความรู้ใหม่ จะมีการแก้ปัญหาเป็นระบบ ทดลองความรู้ใหม่ เรียนจากประสบการณ์ในอดีต ดังนั้น ผู้บริหารต้องพยายามสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ สร้างสภาพแวดล้อมส่งเสริมการเรียนรู้ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล
ดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นถึงมุมมองด้านการจัดการที่ปฏิเสธโครงสร้างองค์การแบบเครื่องจักร (Mechanistic Organization) เพราะมองว่าเป็นโครงสร้างที่ตายตัว มีความคงที่ เหมาะสำหรับงานประจำ มีสภาพแวดล้อมที่นิ่ง ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และถูกท้าทายจากสภาพแวดล้อมใหม่ๆ อยู่เสมอ
ดังนั้นแนวคิดในยุคนี้จึงเริ่มมีความชัดเจนในเรื่องโครงสร้างองค์การแบบสิ่งมีชีวิต (Organic Organization) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่น เหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา
1 Response
[…] อ่านต่อ ทฤษฎีองค์การ ในศตวรรษที่ 21 (ตอน 3) […]